โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
เนื่องจากที่ผู้หญิงมีท่อปัสสาวะสั้น จึงมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ยิ่งในคุณแม่ตั้งครรภ์ด้วยแล้วยิ่งมีโอกาสมากขึ้น ถึงแม้การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะจะไม่ใช่ภาวะทีน่ากลัวก็ตาม แต่หากละเลยการรักษาก็อาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ ทั้งนี้ปกติร่างกายของเราจะมีเชื้อแบคทีเรียอยู่แล้ว แต่ร่างกายฉลาดจึงมีระบบกำจัดแบคทีเรียออกไป เช่น ในท่อปัสสาวะของเรา การกำจัดก็คือการปัสสาวะออกไปเรื่อยๆ แต่เมื่อใดก็ตามที่เรากลั้นปัสสาวะ ดื่มน้ำน้อยเกินไป ไม่รักษาความสะอาด จะทำให้แบคทีเรียเหล่านั้นเจริญเติบโตและสะสมจนเกิดการติดเชื้อได้
อันตรายจากโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
ผู้หญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ การกลั้นปัสสาวะบ่อยจะทำให้เชื้อแบคทีเรียสะสมและทำให้เกิดอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แต่สำหรับแม่ท้องอาจเสี่ยงอันตรายกว่านั้น หากเกิดการติดเชื้อลุกลามอาการก็จะรุนแรงขึ้น เช่น มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดสีข้าง คลื่นไส้อาเจียน หรืออาจติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งเมื่อเชื้อเข้าไปสู่ในกระแสเลือดแล้ว แบคทีเรียก็จะสร้างสารพิษออกมา เมื่อร่างกายตอบสนองต่อสารพิษนั้น ก็อาจเกิดการกระตุ้นให้มดลูกหดตัวและทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด หรือทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้
อาการแบบไหนถือว่าเสี่ยง
- ปัสสาวะขัด
- ปัสสาวะแล้วแสบบรเวณตรงกลางเหนือหัวหน่าวโดยเฉพาะตอนใกล้สุด
- ปัสสาวะบ่อยผิดปกติ แต่ได้ปริมาณนิดเดียว และกลั้นไม่อยู่
- ปัสสาวะไม่สุด
- ปัสสาวะขุ่น มีกลิ่นแปลก หรือมีเลือดปน
การดูแลรักษา
โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบไม่ใช่โรคที่สามารถหายเองได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เชื้อแบคทีเรียก็ยังคงอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งมีโอกาสสูงที่เชื้อจะลุกลามขึ้นไปยังกรวยไต รวมถึงเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ขึ้น วิธีการรักษาโรคคือ กินยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียตามที่คุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัด และเข้ารับการตรวจปัสสาวะซ้ำหลังจากรักษาไปแล้วว่าเชื้อหายไปหมดแล้วหรือยัง ถ้าหายแล้วก็สามรถดูแลตัวเองได้ตามปกติ แต่ถ้าไม่หายคุณหมอก็จะทำการตรวจเพิ่มเติมและปรับเปลี่ยนยาต่อไป
การป้องกันโรค
ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมประมาณ 6-8 แก้วต่อวัน
ห้ามกลั้นปัสสาวะ
สังเกตอาการของตัวเองว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น ปัสสาวะบ่อยเพราะติดเชื้อหรือเพราะมดลูกเริ่มขยาย หากปัสสาวะบ่อยและมีอาการปวดหน่วง แสบ ขัด หรืออื่นๆ แสดงว่าอาจติดเชื้อ ควรรีบไปพบคุณหมอ
รักษาอนามัยบริเวรรอบอวัยวะเพศให้สะอาด ไม่ให้อับชื้น
หากติดเชื้อควรกินยาให้คบตามที่คุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา และการติดเชื้อรุนแรงที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้