การแพทย์ยุคใหม่ ผ่าตัดมดลูกผ่านกล้อง
แต่ละปีผู้หญิงไทยจำนวนไม่น้อยที่ต้องถูกตัดมดลูกออก ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ป่วยจะมีอายุระหว่าง 40-59 ปี โดยโรคที่เกิดขึ้นบริเวณมดลูกหรือเกิดความผิดปกติจำเป็นต้องตัดมดลูกออกก็มีหลายปัจจัยเช่นกัน เพราะฉะนั้นการผ่าตัดมดลูกถือว่าเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคุณผู้หญิง เชื่อว่ามีผู้หญิงไม่น้อยที่มีความกังวลในเรื่องของบาดแผลที่จะเกิดขึ้นหลังจากการผ่าตัด รวมถึงอาการบาดเจ็บระยะเวลาการพักฟื้น หรือแม้แต่เรื่องค่าใช้จ่าย
แต่ในปัจจุบันเริ่มมีวิวัฒนาการทางการแพทย์ยุคใหม่เข้ามามีส่วนช่วยให้การผ่าตัดมดลูกง่ายขึ้น ด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องซึ่งจะช่วยลดการกระทบกระเทือนต่ออวัยวะภายในและลดการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้ดี
การผ่าตัดผ่านกล้อง
การผ่าตัดผ่านกล้อง เป็นการผ่าตัดภายใต้การดมยาสลบโดยใช้การเปิดแผลใต้สะดือยาวเพียง 0.5-1 เซนติเมตร แล้วใส่แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ทางเข็มที่แทงผ่านแผลที่เปิดเข้าไปในช่องท้อง เพื่อให้เจอช่องว่างในอุ้งเชิงกราน แล้วค่อยส่องกล้องเข้าไปให้เห็นอวัยวะภายใน การผ่าตัดอาจเจาะรูเพิ่มอีกประมาณ 2-3 รู ที่หน้าท้องเพื่อให้แพทย์ใช้หยิบอวัยวะในอุ้งเชิงกรานและสามารถผ่าตัดได้สะดวก
โรคที่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดผ่านกล้อง
เนื้องอกมดลูก
มดลูกหย่อน
มะเร็ง
โรคเยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่
อาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง
เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดที่แก้ไขทางยาแล้วไม่ได้ผล
ข้อดีของการผ่าตัดมดลูกผ่านกล้อง
แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว และสวยงามเมื่อเทียบกับการผ่าตัดแผลใหญ่
การผ่าตัดแบบส่องกล้องนั้น มีกำลังขยายมากกว่าสายตาคน ทำให้แพทย์มองเห็นรายละเอียดของตำแหน่งที่จะทำการผ่าตัดได้ชัดเจนขึ้น
ผู้ป่วยจะเสียเลือดน้อย และปวดแผลน้อยกว่า เนื่องจากแผลมีขนาดเล็กเพียง 0.5-1 เซนติเมตร
ผู้ป่วยสามารถทานอาหารหลังการผ่าตัดได้เร็วขึ้น
โอกาสเกิดพังผืดหลังผ่าตัดน้อยกว่าวิธีเดิม
อาการหลังการผ่าตัด
หลังการผ่าตัด 1-2 วันแรก ผู้ป่วยอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เหนื่อยและเจ็บแผล ปวดกล้ามเนื้อ ปวดที่ไหล่หรือกระดูกซี่โครง เนื่องจากแก๊สที่เหลือในท้องไปกระตุ้นกระบังลม แต่จะหายไปเองภายใน 2-3 วัน
วิธีการดูแลตัวเองหลังการผ่าตัด
การดูแลตัวเองหลังการผ่าตัดผ่านกล้องผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและที่สำคัญ ผู้ป่วยไม่ควรยกของหนัก รวมทั้งการงดมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 1 เดือน นอกเหนือจากนั้นผู้ป่วยก็สามารถรับประทานอาหารและใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
ขอบคุณข้อมูล
พญ.รัชฎาวัลย์ ธรรมคุณานนท์